ปกาเกอะญอ
ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ปกาเกอะญอ
ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : กะเหรี่ยง, กะหร่าง, ยาง, กะเหรี่ยงสะกอ
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน, อักษรขาว
กะเหรี่ยง หรือ ปกาเกอะญอ คนล้านนามักเรียกว่า “ยาง” พม่าเรียกว่า “กะยิ่น” ชาวตะวันตก เรียกว่า “กะเรน” กลุ่มชาติพันธุ์นี้เรียกตนเองว่า “กะเหรี่ยง” ประกอบด้วยกะเหรี่ยงหลากหลายกลุ่ม กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ปกาเกอะญอ (สกอว์) โพล่ง (โปว์) ตองสู้ (ปะโอ) และบะแก (บะเว) แต่เดิมกะเหรี่ยงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต้นแม่น้ำสาละวิน สหภาพพม่า ต่อมาได้อพยพเข้ามาตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่า สู่ภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย ใน 15 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน ตาก และกาญจนบุรี แม้กะเหรี่ยงจะได้ชื่อว่าเป็นชาวเขา แต่ก็มิได้อาศัยบนเขาสูงเสียทั้งหมด บางส่วนสร้างบ้านแปลงเรือนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ราบเชิงเขา เหมือนกลุ่มชาติพันธุ์ไทอื่นๆ เช่น ชาวกะเหรี่ยงในบ้านพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นต้น ในส่วนของบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ชาวกะเหรี่ยงนิยมสร้างเรือนไม้ยกพื้นสูง มีชานเรือน หลังคาหน้าจั่วยาวคลุมตัวบ้านมุงด้วยหญ้าคา ไม่มีหน้าต่าง และดำรงชีพด้วยเกษตรกรรมและหาของป่า
กะเหรี่ยงมีภาษาเป็นของตนเอง คือ ภาษากะเหรี่ยง เป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต สาขาทิเบต-พม่า แบ่งเป็นภาษาย่อยได้ 8 ภาษา คือ สะกอ โป กะยา เฆโก มอบวา (บิลีจี , เดอมูฮา) ปาไลซิ ต้องสู้ และ เวเวา นอกจากนี้ยังมีสำเนียงอีกหลายแบบ ซึ่งแตกต่างกันไปตามพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน แด่เดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ ผีอารักษ์ และผีต่าง ๆ ที่สถิตตามป่าเขา ลำน้ำ และบริเวณหมู่บ้าน ต่อมาเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับคนพื้นราบจึงหันมานับถือพระพุทธศาสนา และบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ตามที่มิชชั่นนารีได้เข้ามาเผยแพร่ศาสนจักร
ในส่วนของวัฒนธรรมจะมีพิธีกรรม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ได้แก่ พิธีกี่จี๊หนี่ซอโข่, กี่จี๊ลาคุ ซึ่งเป็นพิธีไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ แนวความเชื่อบูชาผีที่ยังปรากฎในพิธีกรรมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ประเพณีเลี้ยงผีบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อดั้งเดิมอยู่คู่กันมานานแล้ว ซึ่งเป็นความเชื่อในเหล่าบรรพบุรุษ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เนื่องจากชีวิตของ
ปกาเกอะญอ อยู่กับป่าเขา ผูกพันกับธรรมชาติมาเนิ่นนาน จึงหล่อหลอมความเชื่อกับธรรมชาติเข้าด้วยกัน ในการทำกิจกรรมต่างๆ จะต้องมีการเซ่น เจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชน ให้ท่านได้มาอุดหนุนค้ำจุน ช่วยให้กิจการงานนั้นๆ เจริญก้าวหน้า ทำกสิกรรมได้ผลผลิตดี ขอให้ท่านดลบันดาลให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาต่อท่านเหล่านั้นด้วย